วัฒนธรรมกลุ่มดนตรีอีสานเหนือ
ประเภทเครื่องดีด
เครื่องดนตรีประเภทใช้ดีด ได้แก่
1.พิณพื้นเมือง
ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปเช่น ซุง ซึง หมากจับปี่ หมากตดโต่ง หมากตับเต่ง
เป็นต้น พิณทำด้วยไม้ เช่น ไม้ขนุน
เพราะมีน้ำหนักเบาและให้เสียงทุ้มกังวานไพเราะกว่าไม้ชนิดอื่น
มีรูปร่างคล้ายกีตาร์แต่ฝีมือหยาบกว่า พิณอาจจะมี 2 สาย 3
สาย หรือ 4 สายก็ได้ โดยแบ่งออกเป็น 2 คู่ เป็นสายเอก 2 สาย และสายทุ้ม 2 สาย
ดั้งเดิมใช้สายลวดเบรครถจักรยานเพราะคงทนและให้เสียงดังกว่าสายชนิดอื่น
แต่ในปัจจุบันนิยมใช้สายกีตาร์แทน การขึ้นสายไม่มีระบบแน่นอน
นมหรือขั้นที่ใช้นิ้วกดบังคับระดับเสียงจะไม่ฝังตายตัวเหมือนกีตาร์หรือแมนโดลิน
การเล่นก็เล่นเป็นเพลงเรียกว่าลาย โดยมากพิณจะเล่นคู่กันกับแคน
2.หุนหรือหืน
เป็นเครื่องดีดที่ทำด้วยไม้ไผ่ ซึ่งชาวภาคกลางเรียกว่า จ้องหน่อง
เวลาดีดต้องใช้ปากคาบไว้ที่กระพุ้งแก้ม ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเครื่องขยายเสียง
หุนจะมีเสียงค่อนข้างเบา ดังนั้นจะดีดให้เป็นทำนองชัดเจนได้ยาก
3.โกย คือ
หุนหรือจ้องหน่องที่ทำด้วยโลหะ นิยมเล่นกันในหมู่ผู้หญิงผู้ไทสมัยโบราณ
4.ไหซองหรือพิณไห
เป็นพิณที่ทำมาจากไหน้ำปลาหรือไหใส่ปลาร้า นิยมทำเป็นชุดๆ
ละหลายใบโดยมีขนาดลดหลั่นกัน ตรงปากไหใช้เส้นยางหนังสติกหรือเส้นยางที่ตัดมาจากยางในของรถจักรยานผูกและขึงผ่านให้ได้เสียงประสานกัน
โดยทำหน้าที่ให้เสียงทุ้มคล้ายกีตาร์เบสของฝรั่ง
พิณ ซึง ซุง
พิณ_ไหซอง พิณ ซึง
ซุง ไหซอง หรือ พิณไห
ประเภทเครื่องสี
หมายถึง เครื่องดนตรีที่มีสายสีด้วยคันชัก หรือเครื่องสายตามการเรียกในภาคกลาง
1.ซอพื้นเมือง แตกต่างจากซออื่นๆ
เพราะซอพื้นเมืองของภาคอีสานแทนที่จะทำด้วยไม้กับกะลามะพร้าวแต่กลับทำด้วยไม้กับปี๊บหรือกระป๋อง
ในบางครั้งก็เรียกว่า ซอปี๊บ หรือ ซอกระป๋อง ซอชนิดนี้มีอยู่ 2 สาย คันชักที่ใช้สีนั้นทำเช่นเดียวกับซอสามสาย
คันชักของซอปี๊บจะอยู่ข้างนอก วิธีการสีเช่นเดียวกับซอสามสายหรือไวโอลิน
การเล่นเพลงเช่นเดียวกับพิณ
2.ซอไม้ไผ่ หรือ
ซอบั้ง ทำด้วยไม้ไผ่หนึ่งปล้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณสองถึงสามนิ้ว
ถากผิวออกจนเหลือกระบอกบางๆ เจาะรูให้เกิดโพรงเสียง
ขึ้นสายสองสายไปตามยาวของปล้องไม้ไผ่ แล้วสีด้วยคันชัก
ซอไม้ไผ่มีข้อเสียที่เสียงเบาเกินไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น