สมัยธนบุรี
มีวงดนตรี 3
ประเภท เช่นเดียวกับสมัยอยุธยา คือ วงปี่พาทย์ วงมโหรี และวงเครื่องสาย
แต่มีเครื่องดนตรีของชาติต่างๆ เข้ามาในประเทศไทยหลายชนิด
ดังปรากฏในหมายกำหนดการของพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นว่า “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้พิณพาทย์ไทย พิณพาทย์รามัญ มโหรีไทย ฝรั่ง มโหรีญวน เขมร ผลัดเปลี่ยนกันสมโภช 2
เดือนกับ 12 วัน” ในงานสมโภชพระแก้วมรกตเป็นต้น
สมัยรัตนโกสินทร์
มีความก้าวหน้าทางดนตรีมาก
เริ่มจากสมัยรัชกาลที่ 1 ได้เพิ่มกลองทัดขึ้นในวงปี่พาทย์เป็น 2 ลูก
และเพิ่มระนาดในวงมโหรีปี่พาทย์อีก 1 ราง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2
เริ่มมีปี่พาทย์บรรเลงประกอบเสภา จึงได้นำเปิงมางมาติดข้างสุกถ่วงเสียงให้ต่ำลง
เรียกว่าสองหน้า ใช้ประกอบการบรรเลงประกอบเสภา และได้เพิ่มฆ้องวงในวงมโหรีด้วย
ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีผู้สร้างระนาดทุ้มและฆ้องวงเล็กขึ้นมา
ทำให้เกิดวงปี่พาทย์เครื่องคู่ขึ้นในสมัยนั้น
ซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีระนาดทีเปลี่ยนชื่อเป็นระนาดเอก
เพื่อให้เข้าคู่กับระนาดแบบใหม่ ที่เพิ่มราง 1 ราง และสร้างขนาดใหญ่เรียกว่า
ระนาดทุ้ม และฆ้องวงใหญ่ เพื่อให้เข้าคู่กับฆ้องวงเล็กที่สร้าง ขนาดเล็กลงเรียกว่า
ฆ้องวงเล็ก นอกจากนี่ยังมีการนำปี่นอกเข้ามาผสมเข้าคู่กับปี่ใน
และเครื่องดนตรีเดิม คือ ตะโพน กลองทัดและฉิ่งเช่นเดิม
รวมทั้งมีวงมโหรีเครื่องคู่เกิดขึ้น โดยมีการนำระนาดทุ้ม ฆ้องวงเล็ก และขลุ่ยหลีบ
ให้เข้าคู่กับเครื่องดนตรีที่มีอยู่เดิม ในสมัยรัชกาลที่ 4
วงปี่พาทย์มีความเจริญมาก โดยเจ้านาย ขุนนาง ข้าราชการ
ต่างก็มีวงปี่พาทย์ประจำบ้านกัน
และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระราชดำริให้นำลวดเหล็กเล็ก ๆ
ที่ทอดพระเนตรจากนาฬิกาตั้งโต๊ะที่กลไกข้างในมีลวดเส้น เล็ก ๆ สั้นบ้างยาวบ้าง
ปักเรียงกันถี่ ๆ
เป็นวงกลมคล้ายหวีตรงกลางมีแกนหมุนและเหล็กเขี่ยเส้นลวดเหล็กเหล่านั้นผ่านไปโดยรอบที่พระองค์ทรงเรียกว่า
นาฬิกาเขี่ยหวี ซึ่งมีเสียงดังกังวานมาสร้าง เป็นระนาดทุ้มเหล็ก
และระนาดเหล็กที่เล็กกว่าและมีเสียงสูงกว่า มาเพิ่มเข้าในวงปี่พาทย์
และเรียกวงปี่พาทย์นี้ว่า วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มเครื่องดนตรี
ระนาดทุ้มเหล็กและระนาดเอกเหล็กที่ทำด้วยทองเหลืองเรียกว่า ระนาดทอง
และนำซอด้วงและซออู้มาผสมในวงมโหรีด้วยเรียกว่า มโหรีเครื่องใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่
5 ได้เกิดวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์
ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เป็นผู้ทรงปรับปรุงขึ้นเพื่อบรรเลงประกอบละครวงปี่พาทย์นี้มีชื่อเสียงไพเราะนุ่มนวลกว่า
เพราะได้ดัดเครื่องดนตรีที่มีเสียงดังมาก เสียงสูงและเสียงเล็กแหลมออกจนหมด
และระนาดเอกก็ตีด้วยไม้นวม รวมทั้งยังนำฆ้องชัยหรือฆ้องหุ่ยมา 7 ลูก
เทียบเสียงเรียงลำดับตีห่างๆ คล้ายกับ เบสของฝรั่ง เพิ่มเข้ามา ในสมัยรัชกาลที่ 6
การดนตรีมีความเจริญขึ้นมาก โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงตั้งกรมมหรสพ กรมบัญชาการ กรมโขนหลวง กรมพิณพาทย์หลวงกลองเครื่องสายฝรั่งหลวง และกรมช่างมหาดเล็ก
สำหรับสร้างและซ่อมสิ่งที่เป็นศิลปะต่าง ๆ และพระองค์ยังโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างเครื่องปี่พาทย์ประดับมุกและประดับงาขึ้น 2 ชุด ประดับเป็นลวดลายวิจิตร
มีอักษรพระปรมาภิไธย ม.ว. ซึ่งงดงามมีค่ายิ่ง ในสมัยรัชกาลที่ 7
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งวงเครื่องสาย ส่วนพระองค์ขึ้น
โดยพระองค์ทรงซอด้วง และพระบรมราชินีทรงซออู้ พร้อมทั้งเจ้านายอีกหลายพระองค์
อยู่ในวงนั้น นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงพระราชนิพนธ์ เพลงราตรีประดับดาว เถา
เพลงเขมรละออองค์ เถา และเพลงคลื่นกะทบฝั่ง 3 ชั้น ต่อมาเมื่อหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ในปี พ.ศ. 2475 การดนตรีไทยได้ค่อย ๆ เสื่อมลง จนมาถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ไปแล้ว จึงได้มีการฟื้นฟูดนตรีไทยขึ้นใหม่
จนมาถึงปัจจุบันนี้ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ก็ทรงพระปรีชาสามารถทางดนตรีสากล และพระราชนิพนธ์เพลงขึ้นหลายเพลงด้วย แต่พระองค์ยังทรงสนพระทัยการดนตรีไทย
โดยพระราชทานทุน
ให้พิมพ์เพลงไทยเป็นโน้ตสากลออกจำหน่ายจนเป็นที่นิยมของวงการดนตรีทั่วไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น